บทที่ 1 : ประเภทของคำในภาษาเยอรมัน

วันนี้เรามาเริ่มเรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งจะเริ่มกันเป็นบทพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ลักษณะของคำประเภทต่างๆในภาษาเยอรมัน หากจะแบ่งทั้งหมดเพื่อให้สังเกตเห็นภาพรวมจะเห็นได้ว่า ครึ่งหนึ่งของคำทั้งหมดนั้นเป็นคำนามหลายแสนคำเป็นคำนาม ประมาณยี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์เป็นคำคุณศัพท์ และคำกริยาจะมีประมาณยี่สิบเปอร์เซ็น ที่เหลือประมาณสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคำประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คำทั้งหลายนั้นจะถูกแบ่งลักษณะได้ 9 แบบ ได้แก่

  • Das Nomen ก็คือ คำนามนั่นเอง เช่น Buch (หนังสือ), Haus (บ้าน), Auto (รถยนต์) เป็นต้น
  • Der Artikel คำนำหน้านาม ซึ่งจะมีเพียง สามอันได้แก่ der, die และ das สำหรับการเลือกใช้ จะกล่าวต่อไป
  • Das Pronomen คำสรรพนาม เช่น er (เขา) , ich (ฉัน)
  • Das Verb คำกริยา เช่น lernen (เรียน), sprechen (พูด), sehen (เห็น) เป็นต้น
  • Das Adjektiv เป็นคำคุณศัพท์ ซึ่งมีหน้าที่ในการขยายนาม เช่น gut (ดี), klein (เลก็ก็ก) เป็นต้น
  • Das Adverb คำวิเศษณ์ เช่น morgen (พรุ่งนี้) , hier (ที่นี่)
  • Die Präposition คำบุพบท เช่น hinter (ข้างหลัง) , in (ใน)
  • Die Konjunktion คำสันธาน เช่น und (และ) , oder (หรือ)
  • Die Interjektion คำอุทาน เช่น aua (อูย เจ็บ ถ้าเป็นภาษาไทยก็คล้ายกับคำว่า โอ้ย)

ภาษาเยอรมัน

อย่างไรก็ตามลักษณะของการแบ่งประเภทของคำทั้ง 9 ชนิดนั้น เป็นการแบ่งตามหน้าที่ของมัน ซึ่งเป็นการแบ่งที่ละเอียด ซึ่งเราสามารถนำกลุ่มคำดังกล่าว มาจัดกลุ่มใหม่ ออกเป็นสองกลุ่มคร่าวๆ ได้แก่

  • คำที่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูป หรือว่าเปลี่ยนหน้าตาไปเมื่อนำไปใช้ เราจะเห็นได้ว่า กลุ่มคำที่มีมากในภาษาเยอรมันได้แก่ คำนาม คำคุณศัพท์ และคำกริยา อยู่ในหมวดที่ต้องเปลี่ยนรูป จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการเรียนภาษาเยอรมันถึงว่ายากหนักหนา นั่นเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เรียนภาษาเยอรมันได้มาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปได้หลากหลาย และบางครั้งก็มีหลักการมากมาย อย่างไรก็ตามแนะนำได้อย่างเดียวว่า ส่วนนี้ต้องใช้ความขยัน และความคุ้นเคย เข้าท่องอย่างตั้งใจถึงจะผ่านจุดนี้ไปได้ มีดังต่อไปนี้

คำนาม เช่น

                1 Mann – Männer   ผู้ชาย                 2 Blume – Blumen   ดอกไม้

คำนำหน้านาม เช่น

                der Mann, den Mann, mit dem Mann, mit den Männem, des Mannes, der Männer

                die Blume, die Blume, mit der Blume, mit den Blumen, der Blume, der Blumen

คำสรรพนาม เช่น

                er, ihn, ihm                         เขา

                ich, mich, mir                     ฉัน

                du, dich, dir                        เธอ

                mein (ของฉัน) , dein (ของเธอ) , sein (ของเขา)

คำกริยา เป็นการเปลี่ยนหน้าตาไปเมื่อเอาไปใช้กับประธานต่างๆกัน

                gehen   ไป, เดินไป              ich gehe, du gehst, er geht

                laufen   วิ่ง                            ich laufe, du läufst, er läuft

                haben   มี                             ich habe, du hast, er hat

คำคุณศัพท์ เช่น

                ein alter Wagen               รถเก่าๆคันหนึ่ง

                ein gutes Buch                 หนังสือดีๆเล่มหนึ่ง

                eine alte Wohnung         อพาร์ทเมนท์ใหม่ๆ หลังนึง

  • คำที่ไม่เปลี่ยนรูป เมื่อนำไปใช้ ได้แก่

                คำวิเศษณ์ เช่น dort (ที่นั่น) , dann (แล้วก็) , gern (ยินดี) , gestern (เมื่อวานนี้)

                คำบุพบท เช่น in (ใน) , auf (บน) , unter (ใต้) über (เหนือ, เกี่ยวกับ)

                คำสันธาน เช่น und (และ) , aber (แต่) , weder … noch (ไม่ทั้ง … และทั้ง) , wenn (เมื่อ , ถ้า)

                คำอุทาน เช่น Pst (จุ๊ๆ เงียบหน่อย)

หลังจากที่เราเริ่มงงกับหน้าที่ของคำต่างๆ ในภาษาเยอรมันและการแบ่งหน้าที่ของคำต่างๆ เรามาดูตัวอย่างประโยคกันดีกว่า จะได้เป็นที่เข้าใจว่า ตกลงคำไหน ทำหน้าที่อะไรได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเลย

                Er hat großen Hunger.   เขาหิวมาก

                Er สรรพนาม , hat กริยา , großen คุณศัพท์ และ Hunger เป็นคำนาม

                Die Kinder sitzen vor dem Fernsehapparat.

                Die คำนำหน้านาม, Kinder นาม , sitzen กริยา , vor บุพบท dem คำนำหน้านาม Fernsehapparat นาม

ข้อระวังเกี่ยวกับคำอีกอย่างหนึ่งคือ ในบางครั้งในคำๆเดียวกันแต่ไปอยู่ในตำแหน่ง ที่ทำหน้าที่ต่างๆกัน จะแปลความหมายเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น

                das ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าทำหน้าที่เป็นคำนำหน้านาม เช่น das Haus บ้าน หากทำหน้าที่เป็น Relativpronomen จะมีความหมายเปลี่ยนไป เช่น Das Haus, das wir kaufen werden, liegt nicht weit vom Zentrum. นั่นก็คือ บ้านที่ซื้อนั้นอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง das ตัวนี้ หมายถึงคำที่อยู่ข้างหน้ามัน ซึ่งก็คือคำว่า Haus บ้าน นั่นเอง

ข้อระวังถัดมาก็คือ คำบางคำอาจจะมีรูปเดียว เช่น คำบางคำจะมีแต่รูปเอกพจน์เท่านั้น พหูพจน์ ไม่มี เช่น Regen ฝน , Obst ผลไม้ อีกทั้งคำบางคำนั้น เราไม่สามารถเปรียบเทียบขั้นกว่าได้ เช่น tot ตาย (คงจะไม่มีใครตายกว่าใคร) หรือ rund กลม ในภาษาเยอรมันไม่มีกลมกว่า เหลี่ยมกว่า ซึ่งจะแตกต่างจากภาษาไทยที่เรามักจะนิยมพูดกัน

ข้อระวังอีกอย่างหนึ่ง ในคำบางคำที่เรามักจะคุ้นเคยว่าทำหน้าที่เป็นคำกริยา แต่อยู่ดีๆกลับกลายมาทำหน้าที่เป็นคำนามก็ได้ เช่น lernen เรียน ซึ่งเป็นคำกริยา แต่หากเป็น das Lernen einer Fremdsprache กลายเป็นการเรียน (สังเกตว่า คำนามในภาษาเยอรมัน จะเขียนตัวใหญ่เสมอ) นั่นหมายความว่า การที่เราจำคำศัพท์หรือการเปิดพจนานุกรม เราอาจจะต้องสังเกตเพิ่มเติมว่า คำๆนั้น สามารถทำหน้าที่อื่นๆได้อีกหรือไม่

ท้ายสุดก่อนจะจบบทเรียนนี้ เราสรุปคร่าวๆ ได้ว่า คำหลายแสนคำในภาษาเยอรมันนั้นส่วนใหญ่ร้อยละเก้าสิบ เป็นคำสามประเภทได้แก่ คำนาม คุณศัพท์ และคำกริยา ซึ่งทั้งสามกลุ่มคำนี้ ดันไปตกอยู่ในลักษณะที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งาน ซึ่งเป็นจุดยาก หากต้องการเห็นภาพรวมใหญ่ ก็ให้ไปสังเกตการทำหน้าที่ของสามกลุ่มคำนี้ดีๆ อย่างไรก็ตาม ภาษาเยอรมันมีข้อที่ต้องระวังอยู่บางประการ เช่น คำบางคำทำหน้าที่ต่างกัน ความหมายก็ต่างกันด้วย อีกทั้งคำบางคำอาจจะนำมาใช้เป็นคำนามได้เฉยเลย อย่างไรก็ตามก็สู้ๆนะครับ